วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

งานประเพณีบุญเดือนสิบ ที่นครศรีธรรมราช


สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง 
งานประเพณีบุญเดือนสิบ หรืองานเทศกาลสารทเดือนสิบ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช และได้กำหนดเอางานทำบุญเดือนสิบมาจัดเป็นงานประจำปี พร้อมทั้งมีการออกร้านและมหรสพต่าง ๆ โดยมีระยะเวลาในการจัดงาน ๓ วัน ๓ คืน การจัดงานประเพณีบุญเดือนสิบ ถือเป็นความพยายามของลูกหลานที่มุ่งทดแทนพระคุณบรรพบุรุษ แม้ว่าจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยทุกคนควรยึดถือปฏิบัติ รวมทั้งปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ ไป อย่างน้อยหากมนุษย์ระลึกถึงเรื่องเปรต ก็จะสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษ รวมทั้งการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกรเวที งานนี้จึงถือเป็นประเพณีสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช 
คำว่าสารท เป็นภาษาบาลี แปลว่า ฤดูอับลม หรือฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า ศารท ฤดูสารท ตรงกับเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ เป็นช่วงเวลาที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผลอุดมสมบูรณ์ คนสมัยโบราณจะมีพิธีกรรมเซ่นสังเวยผลิตผลที่เก็บได้ให้แก่เทวดา เจ้าที่ และผีไร้ญาติ เพื่อเป็นสิริมงคล เชื่อกันว่าช่วงวันแรม ๑-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ นั้น วิญญาณปู่ย่าตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด ซึ่งเรียกว่า เปรต จะได้รับการปลดปล่อยจากพญายมบาล ให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องของตนในเมืองมนุษย์ โอกาสนี้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะหาอาหารหวานคาวไปทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น 
การทำบุญจะเริ่มกันตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวนครศรีธรรมราชบางท้องที่เรียกวันนี้ว่า “วันหฺมรับเล็ก หรือวันสำรับเล็ก” เมื่อถึงกำหนดวันที่ผู้ล่วงลับเหล่านั้นจะกลับไปยังยมโลก เพื่อกลับไปสู่นรกดังเดิม คือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ก็จะมีการจัดทำพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อีกครั้งหนึ่ง ชาวนครศรีธรรมราชจะเรียกว่า วันหฺมรับใหญ่ หรือวันสำรับใหญ่ ซึ่งคนส่วนมากจะเน้นให้ความสำคัญกับการทำบุญวันหฺมรับใหญ่ 
พิธีและกิจกรรมนั้นถือว่าวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันจ่าย เพื่อจัดทำสำรับคาวหวานและเครื่องไทยธรรมไปทำบุญ พอรุ่งขึ้นเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ทุกคนในบ้านจะช่วยกันทำอาหารคาวหวานและจัดหฺมรับไว้ทำบุญถวายพระในวันรุ่งขึ้น 
การจัดหฺมรับ หรือสำรับ มักจะใช้ภาชนะเป็นกระบุงทรงเตี้ย ๆ สานด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็กหรือใหญ่ มีเครื่องไทยธรรมมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้จัด ซึ่งต้องมีขนม ๕ อย่าง คือ ขนมพอง ซึ่งมีความหมายว่าล่องลอยได้ เปรียบเสมือนพาหนะให้ผู้ล่วงลับไปแล้วใช้ข้ามห้วงมหรรณพสู่ดินแดนสุคติทางพระพุทธศาสนา ขนมลา เป็นเสมือนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นเครื่องประดับ ขนมดีซำ เป็นเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า สำหรับบูรพชนได้ใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านบอกว่าขนมที่เป็นหัวใจของสำรับนั้นมี ๖ อย่าง คือ ต้องเพิ่มขนมลาลอยมัน หรือขนมรังนก ซึ่งเป็นขนมที่อุทิศเป็นฟูกหมอนเข้าไปอีกอย่างหนึ่งจึงจะครบตามคติความเชื่อ ขนมส่วนใหญ่เป็นขนมแห้งที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน ๆ 
เครื่องไทยธรรมที่บรรจุรวมในหฺมรับ มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ต่าง ๆ ตามแต่จะหามาได้ รวมทั้งเครื่องบริขารที่จำเป็นของพระสงฆ์ จัดเรียงประดับตกแต่งให้สวยงาม จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็แล้วแต่ตามศรัทธาที่หาได้ เพื่อนำไปทำบุญถวายพระที่วัด การยกหฺมรับไปวัดนั้นถือเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากหฺมรับแล้ว ยังจัดแบ่งอาหารคาวหวานบรรจุกระทงในพิธีตั้งเปรต เป็นการทำบุญให้ผีไร้ญาติ แต่การตั้งเปรตสมัยนี้นิยมสร้างเป็นร้านขึ้นมาให้สูงพอสมควร เพื่อผู้คนจะได้นำอาหารและขนมไปวางกันได้ ร้านที่สร้างขึ้นมาเพื่อพิธีตั้งเปรตนี้เรียกว่า หลาเปรต หรือศาลาเปรต หลังจากตั้งเปรตแล้ว พระสงฆ์จะสวดบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ เมื่อเสร็จพิธีบังสุกุล ชาวบ้านที่ยากจนหรือเด็ก ๆ จะวิ่งเข้าไปแย่งขนมเหล่านั้น บางคนก็เรียกว่าชิงเปรต 
ครั้นถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันสารท ชาวบ้านก็จะนำข้าวปลาอาหาร สำรับคาวหวานที่เตรียมไว้ไปถวายวัด มีการทำบุญเพื่อเป็นการฉลองหฺมรับที่จัดไว้ ซึ่งก็มีการทำบุญเลี้ยงพระถวายหฺมรับและบังสุกุลเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว 
นอกจากจะมีการทำบุญตามประเพณีของชาวเมืองแล้ว ทางจังหวัดยังได้จัดให้มีขบวนแห่หฺมรับจากสนามหน้าเมืองไปยังวัดพระมหาธาตุ พิธีถวายหฺมรับ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน นิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐ การออกร้านหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ การประกวดร้านค้าย้อนยุค การประกวดแข่งขันหัตถกรรมพื้นบ้าน และงานมหรสพต่าง ๆ ในปีนี้จะมีงานระหว่างวันที่ ๒๑-๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น