วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

งานประเพณีบุญเดือนสิบ ที่นครศรีธรรมราช


สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง 
งานประเพณีบุญเดือนสิบ หรืองานเทศกาลสารทเดือนสิบ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช และได้กำหนดเอางานทำบุญเดือนสิบมาจัดเป็นงานประจำปี พร้อมทั้งมีการออกร้านและมหรสพต่าง ๆ โดยมีระยะเวลาในการจัดงาน ๓ วัน ๓ คืน การจัดงานประเพณีบุญเดือนสิบ ถือเป็นความพยายามของลูกหลานที่มุ่งทดแทนพระคุณบรรพบุรุษ แม้ว่าจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยทุกคนควรยึดถือปฏิบัติ รวมทั้งปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ ไป อย่างน้อยหากมนุษย์ระลึกถึงเรื่องเปรต ก็จะสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษ รวมทั้งการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกรเวที งานนี้จึงถือเป็นประเพณีสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช 
คำว่าสารท เป็นภาษาบาลี แปลว่า ฤดูอับลม หรือฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า ศารท ฤดูสารท ตรงกับเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ เป็นช่วงเวลาที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผลอุดมสมบูรณ์ คนสมัยโบราณจะมีพิธีกรรมเซ่นสังเวยผลิตผลที่เก็บได้ให้แก่เทวดา เจ้าที่ และผีไร้ญาติ เพื่อเป็นสิริมงคล เชื่อกันว่าช่วงวันแรม ๑-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ นั้น วิญญาณปู่ย่าตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด ซึ่งเรียกว่า เปรต จะได้รับการปลดปล่อยจากพญายมบาล ให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องของตนในเมืองมนุษย์ โอกาสนี้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะหาอาหารหวานคาวไปทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น 
การทำบุญจะเริ่มกันตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวนครศรีธรรมราชบางท้องที่เรียกวันนี้ว่า “วันหฺมรับเล็ก หรือวันสำรับเล็ก” เมื่อถึงกำหนดวันที่ผู้ล่วงลับเหล่านั้นจะกลับไปยังยมโลก เพื่อกลับไปสู่นรกดังเดิม คือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ก็จะมีการจัดทำพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อีกครั้งหนึ่ง ชาวนครศรีธรรมราชจะเรียกว่า วันหฺมรับใหญ่ หรือวันสำรับใหญ่ ซึ่งคนส่วนมากจะเน้นให้ความสำคัญกับการทำบุญวันหฺมรับใหญ่ 
พิธีและกิจกรรมนั้นถือว่าวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันจ่าย เพื่อจัดทำสำรับคาวหวานและเครื่องไทยธรรมไปทำบุญ พอรุ่งขึ้นเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ทุกคนในบ้านจะช่วยกันทำอาหารคาวหวานและจัดหฺมรับไว้ทำบุญถวายพระในวันรุ่งขึ้น 
การจัดหฺมรับ หรือสำรับ มักจะใช้ภาชนะเป็นกระบุงทรงเตี้ย ๆ สานด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็กหรือใหญ่ มีเครื่องไทยธรรมมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้จัด ซึ่งต้องมีขนม ๕ อย่าง คือ ขนมพอง ซึ่งมีความหมายว่าล่องลอยได้ เปรียบเสมือนพาหนะให้ผู้ล่วงลับไปแล้วใช้ข้ามห้วงมหรรณพสู่ดินแดนสุคติทางพระพุทธศาสนา ขนมลา เป็นเสมือนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นเครื่องประดับ ขนมดีซำ เป็นเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า สำหรับบูรพชนได้ใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านบอกว่าขนมที่เป็นหัวใจของสำรับนั้นมี ๖ อย่าง คือ ต้องเพิ่มขนมลาลอยมัน หรือขนมรังนก ซึ่งเป็นขนมที่อุทิศเป็นฟูกหมอนเข้าไปอีกอย่างหนึ่งจึงจะครบตามคติความเชื่อ ขนมส่วนใหญ่เป็นขนมแห้งที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน ๆ 
เครื่องไทยธรรมที่บรรจุรวมในหฺมรับ มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ต่าง ๆ ตามแต่จะหามาได้ รวมทั้งเครื่องบริขารที่จำเป็นของพระสงฆ์ จัดเรียงประดับตกแต่งให้สวยงาม จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็แล้วแต่ตามศรัทธาที่หาได้ เพื่อนำไปทำบุญถวายพระที่วัด การยกหฺมรับไปวัดนั้นถือเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากหฺมรับแล้ว ยังจัดแบ่งอาหารคาวหวานบรรจุกระทงในพิธีตั้งเปรต เป็นการทำบุญให้ผีไร้ญาติ แต่การตั้งเปรตสมัยนี้นิยมสร้างเป็นร้านขึ้นมาให้สูงพอสมควร เพื่อผู้คนจะได้นำอาหารและขนมไปวางกันได้ ร้านที่สร้างขึ้นมาเพื่อพิธีตั้งเปรตนี้เรียกว่า หลาเปรต หรือศาลาเปรต หลังจากตั้งเปรตแล้ว พระสงฆ์จะสวดบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ เมื่อเสร็จพิธีบังสุกุล ชาวบ้านที่ยากจนหรือเด็ก ๆ จะวิ่งเข้าไปแย่งขนมเหล่านั้น บางคนก็เรียกว่าชิงเปรต 
ครั้นถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันสารท ชาวบ้านก็จะนำข้าวปลาอาหาร สำรับคาวหวานที่เตรียมไว้ไปถวายวัด มีการทำบุญเพื่อเป็นการฉลองหฺมรับที่จัดไว้ ซึ่งก็มีการทำบุญเลี้ยงพระถวายหฺมรับและบังสุกุลเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว 
นอกจากจะมีการทำบุญตามประเพณีของชาวเมืองแล้ว ทางจังหวัดยังได้จัดให้มีขบวนแห่หฺมรับจากสนามหน้าเมืองไปยังวัดพระมหาธาตุ พิธีถวายหฺมรับ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน นิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐ การออกร้านหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ การประกวดร้านค้าย้อนยุค การประกวดแข่งขันหัตถกรรมพื้นบ้าน และงานมหรสพต่าง ๆ ในปีนี้จะมีงานระหว่างวันที่ ๒๑-๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ 

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สนามหลวงโฉมใหม่!!




ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หลายคนคงจะมีความรู้สึกอึดอัดเล็กๆ เวลาเดินทางผ่านไปแถวบริเวณสนามหลวงเนื่องด้วยว่า ลานกว้างโล่งหูโล่งตาที่เราเคยชินกันนั้นถูกปิดรอบไปด้วยป้ายสูง ทำให้ไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลย และยังเป็นที่ลำบากแก่ผู้เดินทางไปมา เพราะไม่สามารถเดินตัดผ่านได้ เหตุผลทั้งหมดก็คือ หลังจากที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอย่างรุนแรงภายในบริเวณเมื่อปีที่แล้ว ทางกรุงเทพมหานครได้ตัดสินใจปิดปรับปรุงพื้นที่ท้องสนามหลวงครั้งใหญ่ ซึ่งกินเวลานานกว่า 1 ปี และใช้งบในการดำเนินการกว่า 180 ล้านบาท

แต่เมื่อไม่นานมานี้ หากใครได้มีโอกาสเดินทางผ่านไปแถวๆ สนามหลวง ก็คงจะรู้สึกแปลกตาไปอย่างมาก เพราะลานขนาดใหญ่ที่ถูกปิดล้อมด้วยป้ายบัดนี้ได้เปิดโล่งและรายล้มไปด้วยต้นไม้ใหญ่กับสนามหญ้าสีเขียวขจีอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ดูแล้วก็สบายตาขึ้นมากทีเดียว และเนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติที่จะมาถึงนี้ หากใครต้องการพาคุณแม่ไปเดินเล่น พักผ่อน หรือออกกำลังกายที่สนามหลวงก็สามารถทำได้ทันที โดยเฉพาะหากต้องการไปเก็บภาพสนามหลวงโฉมใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิมร่วมกับคนที่คุณรักก็เหมาะเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้รอบๆ สนามหลวงก็ยังมีสถานที่สำคัญๆ ที่เหมาะแก่การพาคุณแม่ไปเยี่ยมชมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วที่เรารู้จักกัน ศาลหลักเมือง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้พิธีเปิดสนามหลวงอย่างเป็นทางการได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยได้จัดให้มีพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนสิ่งที่มีเพิ่มขึ้นมาใหม่ในสนามหลวงก็คือ ทางกรุงเทพมหานครได้ล้อมรอบบริเวณไว้ด้วยรั้วเหล็กเพื่อป้องกันการบุกรุกนอกเวลาให้บริการ และเพื่อป้องกันพ่อค้าแม่ค้านำรถเข็นต่างๆ เขามาค้าขายภายในพื้นที่ โดยตามทางเข้าได้จัดยามเฝ้าอยู่ตลอดเวลาด้วย

สนามหลวงโฉมใหม่นี้เปิดให้บริการตั้งแต่ 5.00 – 22.00 น. โดยประชาชนสามารถเข้าไปพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย


บทความและรูปภาพประกอบจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Llove Exhibition ณ ประเทศญี่ปุ่น


คุณคงเคยได้ยินคำว่า love hotel กันมาบ้าง เป็นภาษาอังกฤษอีกคำหนึ่งที่มาจากคำผสมใหม่ของญี่ปุ่น ไม่ต่างกับคำว่า PlayStation หรือว่า walkman ถ้าพูดกันแบบเคลียร์ๆ love hotel ก็คือ hotel for making love นั่นเอง เป็นวัฒนธรรมและปรากฏการณ์ทางurban ของญี่ปุ่นอีกอย่าง ที่มักทำให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศทางตะวันตกนั้นรู้สึกประทับใจ แปลกใจ สนใจ หรือบางทีก็ตกใจ
โปรเจ็กต์นี้เป็นนิทรรศการร่วมระหว่างดีไซเนอร์จากญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 400ปี ความสัมพันธ์ ญี่ปุ่น-เนเธอร์แลนด์ เมื่อ Suzanne Oxenaar มาเจอกับ Jo Nagasaka โปรเจ็กต์ Llove จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาโดยเริ่มจาก ‘intentionally misreading’ คำว่า love hotel ของซูแซนน์ว่าเป็นโรงแรมแห่งความรัก ซึ่งเป็นที่มาของธีมคอนเซ็ปต์ที่ว่า ‘Still in Llove’
นอกจากนี้ตัวงานและวิธีจัดการต่างๆก็มาจากคอนเซ็ปต์ที่ซูแซนน์ได้แรงบันดาลใจมาจาก love hotel เช่น ห้องพักที่ไม่ซ้ำกัน หรือโรงแรมที่ผู้มาพักสามารถเลือกห้องได้ตามอารมณ์ เป็นต้น
ระหว่างนิทรรศการ Llove เปิด 24ชั่วโมง โดยช่วงหลังเชคเอาท์และก่อนเชคอินนั้น ห้องพักและส่วนต่างๆเปิดให้คนเข้าชมฟรี เมื่อถึงเวลาเชคอิน บริการต่างๆจะปิดเพื่อให้แขกที่มาพักมีความเป็นส่วนตัว
Daikanyama i Studio สถานที่ที่ถูกเลือกให้เป็น ‘เวที’ สำหรับงานครั้งนี้ อยู่ห่างจากสถานี Daikanyama เพียงเดินแค่สองนาที ตัวอาคารเป็นหอพักเก่าตั้งแต่ปี1968 ของจังหวัดนาราที่ไม่ได้ใช้มาเป็นเวลานาน

เมื่อเดินเข้ามาก็จะพบกับ front ของโรงแรมที่แทบจะไม่ใช้พื้นที่ ทำด้วยอคริลิคสีชมพูสะท้อนแสง มีจอมอนิเตอร์โชว์ห้องที่ว่างเป็นลักษณะของfront ที่ซูแซนน์ได้แรงบันดาลใจมาจาก love hotel ของญี่ปุ่น ใกล้ๆกับfront จะเห็นคาเฟ่ที่เปิดสู่สวนด้านหลัง ออกแบบโดย transit general office ซึ่งเป็นที่รู้จัก กับ cafe chain ชื่อดังอย่าง ‘Sign’ ในญี่ปุ่น มีโต๊ะที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของ Schemata Office วางอยู่กลางคาเฟ่ เป็นการนำโต๊ะไม้แอนติคที่มีผิวขรุขระ ใช้งานยากมาดัดแปลง โดยนำสีชมพูสะท้อนแสงผสมกับ epoxy resin มาทาทำให้โต๊ะแอนติคเรียบ แต่ก็ยังมีอารมณ์ความเป็นแอนติคอยู่ เป็นการนำความขรุขระมาให้เราสัมผัสกันด้วยสายตา เป็นความflat ที่มีอารมณ์และคงความ practical เอาไว้ Jo Nagasaka พูดถึงโปรเจ็กต์ต่อว่า “พอพูดถึงคำว่า flat มักจะมีภาพขึ้นมาว่าเป็นการย่อข้อมูล เป็นการทำอะไรให้เรียบง่าย แต่ในกรณีนี้ การทำให้flat กลับเป็นการเพิ่มและสร้างความซับซ้อนให้กับข้อมูล ซึ่งต่างกับคำว่า flat ในความรู้สึกของคนทั่วไปมาก
ถ้าModernism เป็นการตามหาความชัดเจนและเรียบง่ายแล้ว Postmodernism ก็คงเป็นการแสวงหาความซับซ้อน และนี่คงเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาจุดบางจุดที่มีอยู่ระหว่างความเรียบง่ายและความซับซ้อน
เดินต่อขึ้นไปถึงชั้นสามซึ่งเป็นบริเวณของห้องพักเก่า ถูกนำมารีโนเวทให้เป็นห้องแบบ double bedroom 8ห้อง ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ 8คน แต่ละคนจะได้รับห้องในสภาพเดียวกัน เป็นห้องแบบญี่ปุ่น โดยมีเงื่อนไขว่าจะทำอะไรกับห้องก็ได้โดยไม่เปลี่ยนโครงสร้าง

เมื่อเดินเข้าไป แต่ละห้องจะมีเจ้าหน้าที่มาให้คำอธิบาย ห้องที่ว่ากันว่าถูกจองหมดเร็วมาก คือห้องของ Yuko Nagayama ด้วยห้องที่ชื่อว่า ‘buried’ เมื่อเปิดประตูเข้าไปจะรู้สึกเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง พื้นห้องถูกฝังด้วยก้อนหินสีขาวที่มีต้นไม้โผล่ขึ้นมาเป็นจุดๆ สะท้อนเข้ามาในกระจกเหนืออ่างล้างหน้าที่ถูกฝังจนเหลือเพียงอ่างที่โผล่ขึ้นมา บรรยากาศห้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเหมือนกับว่าหินสีขาวนั้นได้ฝังเวลาให้หยุดอยู่ตรงนั้นด้วย



ห้องที่ชื่อว่า ‘pond’ หรือว่าบ่อน้ำ ของ Ryuji Nakamura ก็ทำให้ทึ่งไม่แพ้กัน ห้องtatami ที่ได้รับการเปลี่ยน tatami และกระดาษshoji (ประตูเลื่อนแบบญี่ปุ่น) มีเพียงแค่ด้ายพลาสติกใสบางๆที่ถูกขึงเอาไว้ไม่รู้กี่พันเส้นจนเป็นระนาบสะท้อนshojiตรงระเบียง ให้เห็นเหมือนแผ่นน้ำที่สะท้อนเงาลงไป เมื่อนั่งลงจะเห็นฟูกวางไว้ข้างใต้ระนาบ คลานเข้าไปนานแล้วจะรู้สึกเหมือนนอนอยู่ใต้แผ่นน้ำ พอยืดตัวขึ้นมาก็จะเห็นเพียงแค่หัวโผล่ออกมาจากระนาบที่ทำด้วยด้ายพลาสติก ทำให้รู้สึกเหมือนถูกปล่อยไว้ในทะเลกว้าง พอลูบด้ายพลาสติกก็จะกระทบกันสั่น ทำให้เหมือนเกิดคลื่นเป็นงานsensitiveที่มีเสน่ห์ ไม่เพียงแค่สวยล้ำแต่ยังชวนให้จินตนาการถึงวิธีใช้
ห้องข้างๆที่ชื่อว่า Little Big Room โดย Hideyuki Nakayama พอเข้าไปแล้ว ตอนแรกยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เหมือนเดินเข้ามาในห้องในโรงแรมแบบญี่ปุ่นเก่าๆ ที่ยับๆ เหมือนกับว่าห้องถูกนำมาใส่ไว้ในห้องที่เล็กกว่าจนเกิดรอยยับ โดยผู้ออกแบบบอกว่า อาจจะเป็นความรักที่ทำให้ห้องใหญ่ขึ้นจนเกิดรอยยับ ส่วนวิธีทำนั้น พอเข้าไปดูใกล้ๆจะเห็นว่าทั้งห้องเป็นรูปถ่ายทั้งหมด ดีไซเนอร์ที่ดูแลโปรเจ็คต์นี้บอกกับเราว่า ถ่ายรูปห้องทั้งห้องแล้วปริ้นท์ขยายนิดนึงแล้วแปะลงไปให้เหมือนของเดิม รอยยับทั้งหมดถูกดีไซน์ไว้แล้ว



นอกจากนี้แล้วยังมีห้อง in Llove! ของ Pieke Bergmans ดีไซเนอร์จากเนเธอร์แลนด์ที่พอเข้าไปแล้ว จะได้กลิ่นช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ทุกๆอย่างอยู่เป็นคู่ติดกันเหมือนกำลังจะละลาย เตียงนอนที่บอกว่าสั่งทำมายาวพิเศษนั้น ก็ยาวจริงจนเลื้อยไปฟาดอยู่บนคาน สร้างส่วนโค้งงอทำให้เกิดสเปซที่เป็นเหมือนโซฟาและเตียงได้พร้อมๆกัน
ห้องของ Jo Nagasaka ที่ได้แรงบันดาลใจจากประวัติของ love hotel ที่มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะนั้น เมื่อเดินเข้าไปในห้องจะรู้สึกเหมือนอยู่ในนาฬิกา มีแผ่นไม้วงกลมที่ตัดเป็นรูปเฟืองและมีเตียงวางอยู่ ดีไซเนอร์มาหมุนให้เราเห็นกัน บอกว่านี่คือ rotating bed ใกล้ๆเตียง มีก๊อปปี้รูปวาดสมัยเอโดะ วาดเป็นรูปชายหญิงอยู่บนเตียงกลมหมุน หลักฐานที่มาของ love hotel และเตียงหมุน ห้องของ Richard Hutten ดีไซเนอร์ชื่อดังจากเนเธอร์แลนด์นั้น ถูกแปะด้วยสติกเกอร์หลากสีหลากลายติดเป็นลายทาง โดยกลางห้องนั้น มีฟูกเตียงหลายลายถูกวางทับกันเป็นลายทาง ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นคุณHuttenตัวเล็กอยู่บนเตียงด้วย ส่วนห้องของ Scholen&Baijingsนั้น เน้นโทนขาว วาดลายเส้นด้วยสีชมพู ดูสว่าง สะอาด สดใส แต่ถ้าเพิ่งดูรูปวาดดีๆแล้ว จะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่าคอนเส็ปต์คือ re-creation สำหรับคนมีลูกยาก





นอกจากนี้ยังมีeventแปลกๆระหว่างนิทรรศการที่ชื่อว่า Llove in the Dark เป็นการนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกอย่าง ที่เรียกว่า Gokon หรือปาร์ตี้แบบญี่ปุ่น ที่มักจัดกันในหมู่นักศึกษาและคนทำงานที่มาเจอกัน โดยจุดประสงค์ของแต่ละคนนั้นต่างกันไป หาคู่บ้าง หาเพื่อนบ้าง แก้เซ็งบ้าง Llove in the Dark นั้นก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Gokon โดยมีความพิเศษตรงที่ว่า ทุกอย่างจะอยู่ในความมืด เป็นการคุยกับคนที่ไม่รู้จักสี่คนในความมืด โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงาน
โปรเจ็คต์นี้เป็นทั้งตัวเลือกใหม่ของงานนิทรรศการของการรีโนเวชั่นและยังมีศักยภาพ ประยุกต์ไปเป็น business model ใหม่ที่น่าสนใจในหลายๆด้านอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองและวิธีapproach ที่แตกต่างระหว่างดีไซเนอร์ของสองประเทศที่มีเสน่ห์ไปคนละแบบ

แหล่งที่มาบทความและภาพประกอบ จากนิตยสาร art4d ฉบับเดือนกรกฎาคม 2554 และ http://www.llove.co.jp

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

FONT VS BRAND ตัวหนังสือกับแบรนด์

ตัวหนังสือกับแบรนด์ ทำไมจึงดูแพง เพราะว่าสินค้าแพง นั่นก็ใช่ แต่ไม่ใช่แค่นั้น ทุกองค์ประกอบแม้แต่โลโก้ล้วนมีส่วนทำให้สินค้าดูดีมีราคาไปด้วย ดังตัวอย่างที่เรายกมาในฉบับนี้
Louis Vuitton


คุณทราบหรือไม่ว่า ตัวอักษรโลโก้ของ Louis Vuitton พิมพ์ด้วยฟ้อนต์ที่ชื่อ Futura ซึ่งปัจจุบันสามารถมองหาได้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วๆไป เป็นฟ้อนต์ที่ใช้ง่าย จุดเด่นของฟ้อนต์นี้คือ ตัว O มีลักษณะแทบจะเป็นวงกลมสมบูรณ์ ส่วนมุมแหลมของตัว V และ N แหลมเฟี้ยว ดูเฉลียวฉลาด จะเห็นว่าโลโก้มีการจัดวางช่องไฟระหว่างตัวอักษรใหม่ เพียงแค่นี้เองก็ให้ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปทันที และนี่คือความลับในการจัดช่องไฟที่นักออกแบบใช้สร้างสรรค์งานอันน่าทึ่ง




Godiva


ในอดีตโลโก้ของยี่ห้อนี้พิมพ์ด้วยฟ้อนต์ Times Roman หลังจากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนไปเป็น Trajan ซึ่งถ้าไม่ใช่แฟนตัวจริงอาจจะแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่พอลองเปรียบเทียบดูดีๆแล้ว Trajan ให้ความรู้สึกถึงความโก้หรูอย่างราชามากกว่า โลโก้ใหม่ล่าสุดของ Godiva นั้น นำ Trajan มาตัด Serif หรืออธิบายง่ายๆว่าตัดขาออก ผลลัพธ์คือ ภาพลักษณ์ความเป็นโรมันโบราณที่ผสมผสานกับยุคสมัยใหม่ได้ลงตัวพอดิบพอดี




Dean&Deluca


อารมณ์ของตัวอักษรแบรนด์นี้ดูแล้วเห็นได้ทันทีว่าต่างจากโลโก้ของ Louis Vuitton หรือ Godiva แต่กลับสื่อถึงความโก้หรูเหมือนกัน 
โลโก้ของ Dean&Delucaนั้นเป็นตัวอักษรในการพิมพ์สมัยก่อนที่ยังใช้แม่พิมพ์ตะกั่วนำมาเรียงเป็นคำ ทาสีแล้วกดทับลงบนกระดาษ แรงกดทับจะทำให้ตัวอักษรจมลงไปในกระดาษเล็กน้อย พ่อค้าในสมัยก่อน กล่าวกว้างๆคือยุคสมัยโรโกโก นิยมใช้เทคนิคนี้ในการทำนามบัตร ปัจจุบันตัวอักษรนี้มีชื่อเรียกอย่างตรงตัวว่า Copperplate Gothic




Vogue


อย่างที่ทราบกันว่า โลโก้ของVogueนั้นใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ยุค1950 ต้นตำรับพิมพ์ด้วยฟ้อนต์ Didot ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นระบบเรียงพิมพ์ด้วยตัวอักษรตะกั่ว หลังจากนั้นนักออกแบบจึงนำไปดัดแปลงเพิ่มเติมเป็นฟ้อนต์ H&FJ Didot เพื่อให้ร่วมสมัยเหมาะกับยุคการพิมพ์แบบดิจิทัล จะว่าไปอักษรแต่ละตัวไม่ได้มีเอกลักษณ์โดดเด่นอะไรมาก แต่เมื่อรวมๆแล้วสัมผัสได้ถึงความสวยงามละเอียดอ่อนในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ นั่นก็คือแก่นแท้เดียวกันกับแฟชั่น
Dolce&Gabbana
ใช้ตัวอักษรเดียวกับ Louis Vuitton คือ Futura แต่ช่องไฟระหว่างตัวอักษรแน่นกว่า อาจเพราะไม่ต้องการย้ำความหรูหรา แต่เน้นความอ่อนวัยแบบคนเมือง นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการใช้วัตถุดิบเดียวกับ แต่เล่นกับรายละเอียดต่างกันเพียงนิดเดียวก็เปลี่ยนความรู้สึกไปได้




Dior


ตัวอักษร 4ตัวนี้พิมพ์ขึ้นด้วยฟ้อนต์ Nicolas Cochin ซึ่งออกแบบมาเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว ปัจจุบันยังถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง ดูเผินๆก็เหมือนฟ้อนต์ทั่วไป แต่สังเกตดีๆจะเห็นรายละเอียดที่แสดงให้เห็นความงามและคุณภาพของฟ้อนต์ ขนาดที่ว่า Dior นำมาใช้เป็นโลโก้โดยแทบจะไม่ต้องปรุงแต่งใดๆเลย
บางคนอาจมองโลโก้ทั้งหมดนี้เป็นแค่การพิมพ์ตัวหนังสือจากคอมพิวเตอร์และจัดช่องไฟ แต่จริงๆแล้ว แต่ละโลโก้ การปรุงแต่ง ปรับความหนาบาง ยืดหดความยาว และตกแต่งในรายละเอียดแบบเนียนๆ เพื่อความสมดุล เรียกว่ากว่าจะออกมาเป็นโลโก้งามสง่าแบบนี้ได้ นักออกแบบฟ้อนต์และกราฟิกดีไซเนอร์ต้องร่วมมือกันอย่างสมัครสมานสามัคคีน่าดู

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Nicola Formichetti หนุ่มลูกครึ่งอิตาลี-ญี่ปุ่น มากความสามารถ



เมื่อพูดถึงคุณNicola คนนี้ ถ้าแนะนำว่าเขาเป็นcreative directorให้กับแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศส MUGLER (หรือThierry Mugler ในอดีต) เป็นfashion director ให้กับ VOGUE HOMME JAPAN และสตรีทแวร์ Uniqlo ก็คงยังไม่มีใครร้องอ๋อ แต่ถ้าบอกว่าเขาคือ stylistคู่ใจของคุณLady Gaga แล้ว คงจะปิ๋งถึงไอเดียอลังการ ถึงผีถึงคนของเขาแน่นอน เกริ่นกันมาแล้ว คราวนี้ลองมาดูประวัติของเขาคร่าวๆกันดีกว่า 
Nicola หนุ่มผู้มีสไตล์คนนี้มีพ่อเป็นนักบินชาวอิตาลี ส่วนคุณแม่เป็นแอร์สาวชาวญี่ปุ่น และถูกเลี้ยงดูมาแบบครึ่งๆพอดีสองสัญชาติ อยู่มาทั้งสองประเทศ เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่สไตล์ของเขาจะแฟชั่นจ๋าและสุดโต่ง เมื่อมองสองประเทศถิ่นกำเนิดที่รุ่งเรืองในด้านแฟชั่นมากๆ อย่างไรก็ตามความฝันของเขากลับเป็นการได้อยู่ในลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ ที่ซึ่งร่ำรวยด้วยart cultureไม่แพ้ที่อื่นๆ โดยระหว่างที่เขาลงเรียน architecture ที่อังกฤษ สิ่งที่เขาได้รับและหมกมุ่นกลับเป็นการใช้ชีวิตกลางคืน ศึกษาผู้คนและแฟชั่นจากการสังสรรค์ หลังเรียนจบเขาก็ได้งานที่แบรนด์เสื้อ The Pineal Eye ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็น art director และ head buyer อยู่สองปีจนเข้าตากรรมการ ถูกชักชวนให้เขียนแฟชั่นคอลัมน์ให้กับ Dazed & Confused แมกกาซีนแฟชั่นที่ดังและค่อนข้างแนวมากในอังกฤษ และไม่ช้าเขาก็ได้เป็น fashion director ของ Dazedฯ เป็นการเริ่มต้นอาชีพในสังคมแฟชั่น ก่อนที่จะได้collaborate กับแบรนด์ดังเพื่อนซี้มากมายไม่ว่าจะเป็น D&G McQueen และอื่นๆอีกมากมาย โดยที่จะไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้นั่นคือ Lady Gaga โดยพวกเขาพบกันครั้งแรก ที่กองถ่ายแฟชั่นสำหรับนิตยสาร V เมื่อเดือนJuly 2009 หลังจากนั้น Formichetti กับ Gaga ก็ก้าวไปพร้อมๆกัน ด้วยการนำเสนอแฟชั่นจิตนาการเลิศล้ำผ่านทั้งใน music video, concert หรือการจัดหาชุดสำหรับเดินบนพรมแดงของGaga ก็เป็นฝีมือของเขาทั้งหมด มาดูภาพผลงานของเขากันเลยดีกว่า








จะว่าไปแล้วที่เขาว่ากันว่า Formichetti กับ Thierry Mugler เขากันได้ดีขนาดนี้ ก็คงเพราะความสติเฟื่องเหมือนกัน โดยMugler ผู้ซึ่งเกษียณจากงานของเขานั้น เชื่อในเรื่องของมนุษย์ต่างดาวและสิ่งมีชีวิตอื่นๆนอกโลก ขณะที่Formichetti ก็มีสไตล์ที่ดิบพอใช้เลยทีเดียว

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชะลอม กล่องของขวัญแบบไทยๆ


ชะลอมเป็นภาชนะจักรสานที่ใช้ไม้ไผ่สาน    สำหรับใส่ของเช่น ใส่ผลไม้  ใส่เครื่องครัว  ใส่ของต่างๆ ชะลอมเป็นภาชนะที่ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเส้น ๆ เพื่อนำมาจักรสาน  ชะลอมธรรมดาก็จะเป็นสีของไม้ธรรมชาติคือจะเป็นสีทอง  ในสมัยก่อนคนไทยนิยมใช้ชะลอมใส่ของเพื่อจะนำไปฝากบ้านโน้น  บ้านนี้  ถ้าจะมากรุงเทพก็ใช้ชะลอมนี่แหละใส่ของมาไม่ว่าจะเป็น  กับข้าวหรืออะไรก็แล้วแต่    ตามจุดประสงค์ของคนที่จะใส่    แต่ปัจจุบันมักจะนำมาใช้เป็นการประยุกต์ห่อของขวัญแบบไทยๆ

วัสดุที่ใช้ในการทำ
  • ไม้ตอกไม้ไผ่กว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร  ยาว 50 เซนติเมตร จำนวน 15 เส้น
  • ไม้ตอกขนาดเส้นเล็กกว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 50เซนติเมตร 1 เส้น
  • สีย้อมผ้าที่ต้องการ
วิธีทำ


  1. จำนำไม้ที่จะเอามาสานนั้นไปย้อมสี  ให้เป็นสีต่างๆ ตามที่เราต้องการ อาจจะเป็นสีเขียว  เหลือง แดง หรือว่าสีอะไรก็แล้วแต่ที่เราชอบ 
  2. นำไม้ที่เราย้อมสีเสร็จ มาสานโดยใช้ไม้ตอก 2 เส้น วางไขว้เป็นตัว X
  3. นำไม้ตอกอีก 2 เส้นสานขัดด้านบนและด้านล่าง
  4. นำไม้ตอกสานขัด 3 ทิศทางให้ได้ด้านละ 4 เส้น รวมเป็นไม้ตอกทั้งหมด 12 เส้น
  5. จะเห็นว่าไม้ตอกทุกเส้น จะขัดกันธรรมดา ยก 1 ข้าม 1 จะได้รูปหกเหลี่ยมเป็นจุดศูนย์กลาง 1 รูปและมีรูปหกเหลี่ยมล้อมรอบ จำนวน 6 รูป
  6. การขึ้นเป็นตัวชะลอม ให้เลือกจับมุมใดมุมหนึ่ง
    นำไม้ตอกสานขวางจนรอบเป็นวงกลม ปลายไม้ตอก
    ที่รอบให้ทับซ้อนกับจุดเริ่มต้นวนจนหมดความยาว
    ของไม้ตอก
  7. ใช้ไม้ตอกสานลักษณะเดียวกันอีก 2 เส้นโดยรอบ
    จะได้ชะลอมขนาดย่อม
  8. นำไม้ตอกเส้นเล็กสานขัดรอบบนสุดกันหลุด เท่านี้ก็เสร็จสมบูรณ์

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Antilla บ้านที่หรูหราที่สุดในโลก


นอกเสียจากว่าจะมีที่อยู่อาศัยของใครสักคนที่ใช้เม็ดเงินในการก่อสร้างมากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ Antilla อาคารหน้าตาทันสมัยความสูง 27ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองมุมไบตอนใต้ในประเทศอินเดียแห่งนี้จึงจะหล่นลงจากบัลลังก์ของที่อยู่อาศัยที่แพงที่สุดในโลก Mukesh Ambani นักธุรกิจที่รวยที่สุดในประเทศอินเดียและอันดับสี่ของโลกจากการจัดอันดับของ Forbes คือเจ้าของ “บ้าน” แห่งนี้
ที่มาของ Antilla นั้นเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ Nita ภรรยาของ Mukesh ได้ไปพักผ่อนที่โรงแรม Mandarin Oriental นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งความสวยเตะตาของการตกแต่งสไตล์เอเชียร่วมสมัยทำให้เธออยากมี “บ้าน” แบบนี้เป็นของตัวเองบ้าง โดยมีข้อกำหนดในการสร้างว่า ห้ามใช้แบบแปลนและวัสดุก่อสร้างซ้ำกันในแต่ละชั้น อีกทั้งบริเวณที่ “บ้าน” หลังนี้ตั้งอยู่นั้นเป็นถนนสายธุรกิจของประเทศและถือเป็นหนึ่งในถนนที่มีมูลค่าแพงติดอันดับโลก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อาคารแห่งนี้ถูกสื่อมวลชลทั้งในและนอกประเทศตั้งสมญานามให้ว่าเป็น ทัชมาฮาลแห่งศตวรรษที่21 ซึ่งคงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินความจริงแต่อย่างใด “บ้าน” ของตระกูล Ambani ประกอบไปด้วยศูนย์สุขภาพ และสถานออกกำลังกาย, สตูดิโอสำหรับการเต้น, สระว่ายน้ำ, ห้องประชุม, ห้องจัดเลี้ยง, เลาจ์หลากหลายรูปแบบ และโรงภาพยนตร์ขนาด 50ที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีลานจอดสำหรับเฮลิคอปเตอร์สามลำ ซึ่งอยู่บนดาดฟ้า และที่จอดรถยนต์จำนวน 160คัน แน่นอนว่าด้วยจำนวนสาธารนูปโภคอันมากมาย แม่บ้านธรรมดาๆไม่กี่คนคงไม่สามารถรับมือไหว ครอบครัว Ambani เลยแก้ปัญหาด้วยการจ้างพนักงานดูแล “บ้าน” ของเขา เพิ่มโดยเฉพาะอีก 600คน

แหล่งที่มาบทความ จาก นิตยสาร สำเร็จ ฉบับเดือน สิงหาคม 2554